ThaiEnglish (UK)

เช็ค คือตั๋วเงินประเภทหนึ่งในสามประเภท อันได้แก่ ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงินและเช็ค หากจะกล่าวโดยเฉพาะความหมายของเช็ค ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญา ลักษณะ 21 หมวด 4 เช็ค มาตรา 987 ได้ให้คำจำกัดความของเช็คไว้ว่า
" อันว่าเช็คนั้นคือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้สั่งจ่ายสั่งธนาคารให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อทวงถามให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งหรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง อันเรียกว่าผู้รับเงิน "
ประเภทของเช็ค

  1. เช็คจ่ายผู้ถือหรือที่นิยมเรียกกันว่า "เช็คผู้ถือ" คือเช็คที่ทางธนาคารต่าง ๆออกแบบไว้เพื่อจุดประสงค์ให้ผู้สั่งจ่ายเช็คโดยระบุชื่อผู้รับเงินหรือจะไม่ระบุชื่อผู้รับเงิน และยังครอบคลุมถึงเช็คที่ระบุชื่อผู้รับเงินแต่ก็มีคำว่า "ผู้ถือ" รวมอยู่ด้วย
  2. เช็คระบุชื่อ เป็นเช็คที่ผู้สั่งจ่ายเขียนขึ้นเพื่อสั่งธนาคารให้จ่ายเงินโดยระบุชื่อผู้รับเงิน หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลนั้นเท่านั้น

รายการที่ต้องมีการระบุไว้ในเช็ค ( ตาม ป.พ.พ. มาตรา 988)
"อันเช็คนั้น ต้องมีรายการดังกล่าวต่อไปนี้ คือ

  • (๑) คำบอกชื่อว่าเป็นเช็ค
  • (๒) คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน
  • (๓) ชื่อ หรือยี่ห้อสำและนักของธนาคาร
  • (๔) ชื่อ หรือยี่ห้อของผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ
  • (๕) สถานที่ใช้เงิน
  • (๖) วันและสถานที่ออกเช็ค
  • (๗) ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย "

การสลักหลัง หมายถึง การเขียนข้อความพร้อมกับการลงลายมือชื่อหรือลงลายมือชื่ออย่างเดียวที่ด้านหลังของเช็คเพื่อแสดงถึงการโอนเช็คนั้น
การสลักหลัง มี 2 แบบ คือ

  • 1. สลักหลังเฉพาะ หมายถึง การสลักหลังเช็คโดยระบุชื่อผู้รับโอนไว้ด้วย พร้อมด้วยลงลายมือชื่อผู้สลัก
  • 2. สลักหลังลอย หมายถึง การสลักหลังโดยลงลายมือชื่อผู้สลักเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ระบุชื่อผู้รับโอนไว้

หมายเหตุเพิ่มเติม

  1. การสลักหลัง ถ้าประสงค์จะโอนเช็คให้เฉพาะตัว ก็สามารถระบุการห้ามสลักหลังต่อไว้ก็ได้
  2. การสลักหลังต้องเป็นข้อความอันปราศจากเงื่อนไขได ๆ ถ้ามีไว้ให้ถือว่าเงื่อนไขนั้นมิได้เขียนไว้เลย
  3. การสลักหลังเช็คเพื่อโอนเป็นบางส่วนเป็นโมฆะตามกฎหมาย

คำศัพท์ของเช็คที่สำคัญๆ
เช็คไม่ขีดคร่อม หมายถึง เช็ค ที่ผู้ทรงเช็คสมารถนำมาขอเบิกเงินสดตามเช็คจากธนาคารได้เลย
เช็คขีดคร่อม หมายถึง เช็ค ที่เขียนเส้นขนานคู่ขีดขวางไว้ด้านหน้าเช็ค เป็นการแสดงให้ธนาคารรับฝากเข้าบัญชีของผู้ทรงเช็คเท่านั้น ผู้ทรงเช็คหมดสิทธิ์ที่จะขอเบิกเงินสดจากธนาคาร แต่จะต้องนำฝากเข้าบัญชีเงินฝากของตนที่ได้เปิดไว้กับธนาคารแล้วให้ธนาคารผู้รับฝากเป็นผู้ไปเรียกเก็บเงินให้เท่านั้น
ประเภทของเช็คขีดคร่อม
เช็คขีดคร่อมมี 2 ประเภท คือ
1. เช็คขีดคร่อมทั่วไป เป็นเช็คที่มีเส้นคู่ขนานปรากฎที่หัวมุมด้านซ้ายแต่เพียงอย่างเดียว โดยเช็คประเภทนี้ผู้รับเงินไม่สามารถนำเช็คไปเบิกเป็นเงินสดออกมาได้โดยทันทีเนื่องจากมีการขีดคร่อมเอาไว้ ซึ่งจำนวนเงินตามยอดที่อยู่ในเช็คนั้นจะโอนเข้าบัญชีของธนาคารที่ผู้รับนำเอาเช็คไปเข้าบัญชีของธนาคารใดก็ได้
" ห้ามเปลี่ยนมือ " หรือ " Not Negotiable " หมายความว่า เช็คฉบับนี้ไม่อาจโอนต่อไปได้ด้วยการสลักหลัง การนำฝากเข้าบัญชีธนาคารต้องนำฝากเข้าบัญชีของผู้มีชื่อระบุไว้ที่ด้านหน้าเช็คเท่านั้น
"เข้าบัญชีผู้รับเงินเท่านั้น " หรือ " A/c Payee Only " หมายความว่า เช็คฉบับนี้ไม่อาจโอนต่อไปได้ด้วยการสลักหลัง การนำฝากเข้าบัญชีธนาคารก็ต้องนำฝากเข้าบัญชีของผู้ที่มีชื่อระบุไว้ที่ด้านหน้าเช็คเท่านั้น
2. เช็คขีดคร่อมเฉพาะ หมายถึง เช็คที่มีการขีดคร่อมไว้ที่มุมบนด้านซ้ายมือเหมือนๆ กันกับเช็คขีดคร่อมธรรมดาทุกประการ แต่จะแตกต่างกันตรงที่เช็คขีดคร่อมเฉพาะมีการเขียนตัวหนังสือระบุความต้องการเป็นการเฉพาะลงไปในช่องว่างระหว่างเส้นคู่ขนานด้วยนั่นเอง โดยเช็คชนิดนี้จะมีการจ่ายเงินให้กับธนาคารที่ถูกระบุไว้ภายในเส้นคู่ขนานเท่านั้น ผู้รับเงินจึงจำเป็นที่จะต้องนำเอาเช็คไปขึ้นกับทางธนาคารที่กำหนดด้วย

  •  เช็คสลักหลัง เป็นรูปแบบของการโอนเช็คจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่ง หรือจะเรียกว่าการโอนกรรมสิทธิ์ของเช็คไปให้ผู้อื่นก็ได้ โดยเช็คสลักหลังมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ เช็คสลักหลังระบุชื่อ เป็นเช็คที่ผู้รับเงินตามที่เขียนระบุไว้ด้านหน้าของเช็คเซ็นชื่อตนเองที่ด้านหลังพร้อมทั้งเขียนระบุลงไปเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจนด้วยว่าต้องการโอนเช็คดังกล่าวไปให้กับใคร เช็คสลักหลังลอย คือเช็คที่ผู้รับเงินเซ็นชื่อที่เอาไว้ที่ด้านหลังเช็คแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้ระบุข้อความอื่นใดที่นอกเหนือจากนี้ จึงทำให้เช็คฉบับนี้กลายเป็นเช็คผู้ถือ ใครจะนำเอาเช็คฉบับนี้ไปขึ้นเงินก็ได้
  • เช็คลงวันที่ล่วงหน้า เป็นเช็คที่นิยมใช้กันเป็นจำนวนมาก โดยผู้จ่ายจะลงวันที่เอาไว้ล่วงหน้าซึ่งจะนานเท่าไหร่ก็ได้แล้วแต่ผู้จ่ายจะเป็นผู้กำหนด ซึ่งเช็คจะมีผลบังคับใช้และเรียกเก็บเงินจากในบัญชีจริงก็ต่อเมื่อถึงวันที่กำหนดเอาไว้ภายในเช็คเท่านั้น
  • เช็คเคลียริ่ง เป็นกระบวนการที่ธนาคารต่างๆ เรียกเก็บเช็คระหว่างกัน ซึ่งอาจใช้เวลาในการเรียกเก็บเงิน ตามระยะเวลาที่ธนาคารได้กำหนดไว้ ซึ่งอาจใช้เวลา 1- 3 วันโดยประมาณ

เช็คคืนหรือที่เรียกกันโดยเข้าใจทั่วไปว่า "เช็คเด้ง" ซึ่งอาจประกอบด้วยเหตุผลดังที่ปรากฏไว้ตามพรบ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค 2534 มาตรา 4 ดังนี้

  • (๑) ออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น
  • (๒) ออกเช็คโดยในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้
  • (๓) ออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น
  • (๔) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็ค จนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้หรือ
  • (๕) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คโดยเจตนาทุจริต

ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
ทั้งนี้การออกเช็คที่จะเป็นความผิดทางอาญาตามมาตรา 4 ดังกล่าวจะต้องออกเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แต่หากออกเช็คเพื่อเป็นประกันหนี้หรือประกันการผิดสัญญา หรือมีหนี้ต่อกันแต่ไม่มีหลักฐานฟ้องร้องได้ตามกฎหมาย หรือเป็นหนี้ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือหนี้การพนัน ก็ไม่มีความผิด

ข้อควรระวังสำหรับผู้ทรงเช็ค
ธนาคารปฎิเสธการจ่ายเงินตามเช็คอ้างว่า " เช็คพ้นกำหนดจ่ายเงิน" เพราะโจทก์ยื่นเช็คให้ใช้เงินเมื่อพ้น 6 เดือนแล้วฯลฯไม่ถือว่าธนาคารปฎิเสธการจ่ายเงิน ตามพ.ร.บ.เช็คฯมาตรา 4

สถานที่การกระทำความผิด
คือสถานที่ที่ธนาคารตามเช็คได้ปฎิเสธการจ่ายเงิน หรือสถานที่ผู้สั่งจ่ายได้สั่งจ่ายเช็ค ดังนั้นคุณต้องพิจารณาว่าสถานที่ใดเป็นสถานที่คุณสะดวกต่อการดำเนินคดีมากกว่ากัน เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีครับ
การดำเนินคดีเช็ค
เมื่อเช็ค " ติดสปริง " เด้งแล้ว คุณก็ควรนำช็คไปแจ้งความร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือน นับแต่วันที่ธนาคารตามเช็คได้ปฎิเสธการจ่ายเงินครั้งแรก อย่าให้เกินกำหนดระยะเวลาเพราะจะทำให้คุณหมดสิทธิ์ดำเนินคดีอาญากับผู้สั่งจ่ายเช็คหรือผู้ทรงเช็คคนก่อน หรือผู้สลักหลังเช็คแล้วแต่กรณีครับ ทั้งนี้ความผิดในเรื่องเช็คเป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อคุณได้รับเงินตามเช็คครบถ้วนแล้ว คุณสามารถถอนคำร้องทุกข์ได้ก่อนคดีจะถึงที่สุด

การเลือกดำเนินคดีมี ๒ ช่องทาง

  • ๑. การมอบคดีให้พนักงานสอบสวน ( ตำรวจ ) เป็นผู้ดำเนินคดีแทนคุณ วิธีนี้ค่าใช้จ่ายน้อยกว่า แต่ใช้เวลารอคอยมากกว่าในการดำเนินคดีครับ
  • ๒. ให้ทนายความดำเนินคดี ซึ่งต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องก่อน วิธีนี้ค่าใช้จ่ายอาจสูงกว่า แต่ใช้เวลากระชับกว่าในการดำเนินคดีครับ

อายุความในการดำเนินคดีเช็ค
อายุความฟ้องคดีอาญาเช็ค คือต้องแจ้งความร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน เนื่องจากความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค เป็นความผิดอันยอมความได้ ซึ่งเป็นคดีอาญาส่วนตัว ไม่ใช่คดีอาญาแผ่นดิน ผู้เสียหายจะดำเนินคดีอาญาเช็คจะต้องแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้นคดีจะขาดอายุความ ทั้งนี้ การนับระยะเวลาที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดโดยปกติจะนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค ซึ่งถือเป็นวันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เมื่อผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือนนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว ต่อมาได้ฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 96 ประกอบมาตรา 95 (4) คดีก็ไม่ขาดอายุความ
แต่ถ้าผู้เสียหายต้องการจะฟ้องคดีเช็คเองโดยไม่ต้องแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนก็ได้ โดยต้องฟ้องภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด หากไม่ยื่นฟ้องภายใน 3 เดือนดังกล่าว คดีจะขาดอายุความ
แม้ผู้เสียหายจะแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายใน 3 เดือน เพื่อให้พนักงานสอบสวนทำสำนวนคดีส่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีแทน หากผู้เสียหายต้องการฟ้องคดีเองก็สามารถดำเนินการได้ โดยยื่นฟ้องภายใน 5 ปี ตามความในวรรคแรก ซึ่งเมื่อพนักงานสอบสวนเห็นว่าผู้เสียหายฟ้องคดีเองแล้ว พนักงานสอบสวนก็จะยุติการฟ้องคดีนั้น
สุดท้ายนี้ขอให้โชคดี
เทคนิคการหนีหมายจับคดีเช็ค อายุความตามหมายจับคดีอาญาเช็ค คือ 5 ปี หากจะหนีก็ต้องหนีไปให้พ้น 5 ปีนับแต่วันที่ศาลอ่านคำพิพากษา