ThaiEnglish (UK)

จะทำพินัยกรรม ... ทำอย่างไรดี ...

การทำพินัยกรรมเป็นการแสดงเจตนากำหนดว่าถ้าตายไปแล้วทรัพย์สินจะตกได้แก่ผู้ใดรวมทั้งกำหนดการเผื่อตายในเรื่องอื่นๆที่อาจจะไม่ใช่ทรัพย์สินก็ได้ เช่น กำหนดว่าให้ใครเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดก หรือกำหนดในเรื่องการทำศพ หรือยกศพของตนให้โรงพยาบาล หรือตัดไม่ให้ลูกของตนได้รับมรดกเป็นต้น อายุของผู้ที่ต้องการทำพินัยกรรม นั้นกฎหมายกำหนดไว้ว่า อายุต้องครบ 15 ปี บริบูรณ์ถึงจะสามารถทำพินัยกรรมได้ ส่วนอายุจะมากสักเท่าไรหากสติสัมปะชัญญะดีก็สามารถทำได้ตลอด
การทำพินัยกรรมกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ว่า จะยกให้ได้แต่เฉพาะทายาทเท่านั้นนะครับผู้ทำพินัยกรรมยังสามารถยกให้กับผู้ใดก็ได้ เช่นยกให้กับพยาบาลที่ดูแลปรนนิบัติตอนเจ็บป่วยเป็นอย่างดี ( น้อยใจบุตร ) หรือยกทรัพย์สมบัติให้กับหมอที่ทำการรักษา หรือให้กับ สาวใช้ที่บ้านก็ได้ครับ หรืออาจยกให้กับนิติบุคคลตามกฎหมายก็ได้ อาทิเช่น ยกทรัพย์สินให้แก่วัดหรือให้แก่มูลนิธิต่างๆเป็นต้น การทำพินัยกรรมนั้น มีวิธีการทำอยู่สองวิธี คือ ทำแบบเอกสารฝ่ายเมือง หรือแบบพินัยกรรมที่ทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับ การทำแบบเอกสารฝ่ายเมืองนั้นผู้ประสงค์จะทำพินัยกรรมต้องเตรียมเอกสารประกอบการทำพินัยกรรมไปให้พร้อม เช่นสำเนาบัตรประชาชนสำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง ซึ่งได้แก่ โฉนดที่ดิน นส.๓ นส.๓ก. ใบหุ้น ทะเบียนรถยนต์ ทะเบียนอาวุธปืน เป็ฯต้น โดยสามารถไปติดต่อเพื่อขอทำพินัยกรรมได้ณ.ที่ สำนักงานเขต หรือ ที่ว่าการอำเภอ ต่อนายทะเบียนปกครองโดยเสียค่าคำร้อง 50 บาท กรณีทำในสำนักงานหรือที่อำเภอ หากทำนอกสำนักงาน ก็เสีย ๑๐๐ บาท และค่าคู่ฉบับ อีก 10 บาท ซึ่งจะมีแบบของพินัยกรรมให้ผู้ประสงค์จะทำพินัยกรรมได้กรอกข้อความ ซึ่งหลังจากที่ทำพินัยกรรมแบบนี้แล้วทางนายทะเบียนก็จะอ่านข้อความว่าถูกต้องตรงตามเจตนาหรือไม่และนายทะเบียนจะลงชื่อพร้อมประทับตราตำแหน่งไว้ หากมองข้อดีของการทำพินัยกรรมแบบนี้คงจะเป็นเรื่องที่ได้ทำพินัยกรรมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งความระแวงเรื่องการปลอมแปลงหรือพินัยกรรมปลอมอาจหมดปัญหาไป แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อทำพินัยกรรมแบบนี้แล้วผู้ทำพินัยกรรมจะเปลี่ยนแปลงเจตนาจะยกทรัพย์สินของตนเองให้บุคคลอื่นอีกไม่ได้เพราะว่าพินัยกรรมนั้นไม่ว่าจะทำแบบวิธีไหน ก็อาจถูกยกเลิกได้โดยผู้ทำพินัยกรรมยกเลิกเองหรือทำพินัยกรรมฉบับใหม่แทนฉบับเดิมดังนั้นวันที่ทำพินัยกรรมจึงมีความสำคัญมาก ครับ สำหรับพินัยกรรมที่ผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะทำเองหรือเรียกว่าการทำพินัยกรรมเขียนเองทั้งฉบับ ( อาจใช้พิมพ์ก็ได้ ) พินัยกรรมที่ผู้ทำพินัยกรรมทำเองควรมีสาระอะไรบ้าง ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยพินัยกรรมซึ่งวางหลักการทำพินัยกรรมไว้ว่าการทำพินัยกรรม ต้องระบุวันที่ทำพินัยกรรมและผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะยกทรัพย์สินหรือ สิทธิต่าง ๆ ที่ตนมีอยู่ให้กับผู้ใดหรือแก่นิติบุคคลใด และประสงค์ให้ใครทำอะไร หรืออยากให้ใครเป็นผู้จัดการทรัพย์มรดกของตนก็ ต้องกำหนดให้ชัดเจนจะได้ไม่มีปัญหาภายหลังจากที่ผู้ทำพินัยกรรมเสียชีวิตไปแล้ว และที่สำคัญต้องระบุว่าผู้ทำพินัยกรรมได้ทำพินัยกรรมในขณะที่มีสติสัมปะชัญญะดีมีร่างกายแข็งแรง,สมบูรณ์ และการทำพินัยกรรมเป็นไปตามความประสงค์ของตนเอง เสร็จแล้วผู้ทำพินัยกรรมก็ลงลายมือชื่อหรือหากลงลายมือชื่อไม่ได้ก็ต้องประทับลายพิมพ์นิ้วมือให้ชัดเจนพร้อมมีพยานลงลายมือชื่อรับรองการทำพินัยกรรมอย่างน้อยสองคน...และข้อสำคัญของผู้เขียนหรือพยานที่มารับรองลายมือชื่อต้องเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะไม่เป็นคนวิกลจริตหรือคนเสมือนไร้ความสามารถหรือเป็นคนหูหนวกหรือเป็นใบ้หรือตาบอดสองข้างและต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับทรัพย์มรดกของผู้ทำพินัยกรรมรวมตลอดถึงคู่สมรสด้วย มิเช่นนั้นพินัยกรรมอาจเป็น โมฆะคือสูญเปล่าเสมือนว่าไม่ได้ทำพินัยกรรมกันเลย นะครับ หากเป็นเช่นนั้นทรัพย์มรดกก็จะตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมายต่อไป

................ผู้ทำพินัยกรรมตายหลังทำพินัยกรรมสมบูรณ์แล้วจะเป็นอย่างไร ??????
เมื่อผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตายแล้ว มรดกก็ย่อมตกแก่ทายาท ทายาทมีสองประเภททายาทที่มีสิทธิตามกฎหมายเรียก" ว่าทายาทโดยธรรม" และทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรมก็เรียกว่า " ผู้รับพินัยกรรม " ก็จะได้ไปซี่งทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตายตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆเว้นแต่ตามกฎหมายถือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวผู้ตายโดยแท้ ก็หมายความว่า หากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วเจ้ามรดกก็จะมีทรัพย์สิน หรือ หนี้สิน หรือสิทธิหน้าที่ต่างๆอยู่อย่างไรเมื่อเจ้ามรดกได้ยกทรัพย์มรดกให้แก่ ผู้รับพินัยกรรม ก็ย่อมต้องรับไปทั้งทรัพย์สินหรือหนี้สิน ต่างๆ ของเขาด้วย แต่ทั้งนี้ผู้รับพินัยกรรมที่ถูกระบุว่าให้เป็นผู้รับทรัพย์มรดกไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน จะเห็นได้ว่าไม่ใช่จะรับอย่างเดียวดูให้ดีนะครับว่าเขามีหนี้สินติดค้างอยู่ไหม หากมีท่านก็ต้องรับไปจัดการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ด้วย

  • สรุปเงื่อนไขการทำพินัยกรรม

๑. ผู้ทำพินัยกรรมต้องมีอายุตั้งแต่๑๕ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
๒. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือไร้ความสามารถ

  • พินัยกรรมทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง

หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
๑. บัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน
๒. เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ประสงค์จะทำพินัยกรรม
๓. ใบรับรองแพทย์

  • พินัยกรรมทำเป็นเอกสารลับ

ขั้นตอนการทำพินัยกรรมทำเป็นเอกสารลับ
๑. ผู้ร้องทำพินัยกรรมขึ้นเองและผนึกซองพร้อมกับลงลายมือชื่อคาบรอยผนึกนั้น
๒. ผู้ร้องยื่นคำร้องพร้อมซองพินัยกรรม ณ ที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอ เขต แห่งใดก็ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงภูมิลำเนา

  • หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง

๑. บัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน
๒. ซองซึ่งบรรจุพินัยกรรมไว้และปิดผนึกเรียบร้อยแล้ว
๓. ใบรับรองแพทย์

  • อัตราค่าธรรมเนียมการทำพินัยกรรม

๑. พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ฉบับละ ๕๐ บาท
๒. คู่ฉบับ ฉบับละ ๑๐ บาท
๓. พินัยกรรมแบบเอกสาร ฉบับละ ๒๐ บาท
๔. คัดและรับรองสำเนาพินัยกรรม ฉบับละ ๑๐ บาท
๕. ค่าป่วยการพยานและล่าม ไม่เกินวันละ ๕๐ บาท