เมื่อเรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย ต่างก็มองหาสถานที่ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ( ปริญญาตรี ) ผู้ที่สนใจกฎหมาย อยากเป็นนักกฎหมาย ก็จะเลือกศึกษาต่อในศาสตร์นี้ โดยเริ่มจากการเอนทรานซ์เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยปิดของรัฐ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฯ หรือหากไม่ได้เอนทรานซ์ก็จะไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเปิด เช่น มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หรือมหาวิทยาลัยตลาดวิชา คือมหาวิทยาลัยรามคำแหง ตลอดทั้งมหาวิทยาลัยเอกชน และสถาบันอื่นๆที่ได้เปิดหลักสูตรนิติศาสตร์ขึ้นมา เริ่มแรกก็มาดูหลักสูตรนิติศาสตร์ ในชั้นปริญญาตรีก่อนว่าจะจบปริญญาตรี และได้รับ ปริญญาที่ชื่อว่า นิติศาสตรบัณฑิต อักษรย่อคือ น.บ. นั้นคนจะเป็นนักกฎหมายต้องผ่านหลักสูตรและเนื้อหาต่างๆ กันมาอย่างไร สำหรับตัวอย่างที่นำมานำเสนอจะยกของ หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยผู้เรียนต้องศึกษากฎหมายในกลุ่มวิชาบังคับ 93 หน่วยกิต ซึ่งได้แก่
- หลักกฎหมายมหาชน
- หลักกฎหมายเอกชน
- ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก
- นิติปรัชญา
- กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง
- กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา
- กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้:
- กฎหมายอาญา 1
- กฎหมายอาญา 2
- กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด จัดการงานนอกสั่งลาภมิควรได้
- กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้
- กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน
- กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้า ประนีประนอมยอมความ การพนันขันต่อ Civil and Commercial
- กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย
- กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด
- กฎหมายอาญา
- กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จำนอง จำนำ
- กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า 2
- กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว
- พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
- กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1
- กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2
- กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1
- กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2
- กฎหมายแพ่งและพาณิชย์และพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัท และสมาคม
- กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
- กฎหมายปกครอง
- กฎหมายล้มละลาย
- กฎหมายลักษณะพยาน
- กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม
- กฎหมายที่ดิน
- กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง
- กฎหมายเกี่ยวกับสถาบันทางการคลังของรัฐ
- กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและคดีอาญา
- กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร
เมื่อเรียนวิชาพื้นฐาน วิชาเฉพาะ วิชาเลือกเสรี ครบตลอดหลักสูตรแล้ว ก็ถือได้ว่าได้จบการศึกษาในระดับปริญาตรี แล้วซึ่งลำดับต่อไปนักกฎหมายที่ต้องการจะศึกษากฎหมายสูงขึ้นก็อาจจะเข้าศึกษาต่อในระดับมหาบัณฑิต ( ปริญญาโท ) หรือเข้ารับการศึกษาต่อในระดับเนติบัณฑิตไทย ซึ่งการเข้าต่อในระดับเนติบัณฑิต นั้นก็จะมีการแบ่งการศึกษาออกเป็นสองภาคเรียนดังนี้
เนติบัณฑิตไทย
ภาคเรียนที่หนึ่ง
กฎหมายอาญา l กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีในศาลแรงงาน l รัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครอง l ทรัพย์-ที่ดิน l นิติกรรม-สัญญา l หนี้ l ละเมิด l ซื้อขาย-แลกเปลี่ยน-ให้ l เช่าทรัพย์-เช่าซื้อ-จ้างแรงงาน-จ้างทำของ l ยืม-ค้ำประกัน-จำนอง-จำนำ l ตัวแทน-ประกันภัย-ตั๋วเงิน-บัญชีเดินสะพัด l หุ้นส่วน-บริษัท l ครอบครัว l มรดก l กฎหมายภาษีอากร l กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา l กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ
ภาคเรียนที่สอง
กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง l กฎหมายล้มละลาย l พระธรรมนูญศาลยุติธรรม l วิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงและวิธีพิจารณาในศาลเยาวชนและครอบครัว l กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา l สิทธิของบุคคลตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา l กฎหมายพยานหลักฐาน l วิชาว่าความและการถามพยาน
การจบหลักสูตร
ผู้ที่จะถือว่าจบหลักสูตรเป็นเนติบัณฑิตได้นั้น จะต้องสอบผ่านการสอบข้อเขียนทั้งสองภาค โดยในการสอบแต่ละภาคจะต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ขึ้นไป และผ่านการสอบปากเปล่า ผู้ที่สามารถสอบผ่านภาคหนึ่งภาคใดได้ ไม่ต้องสอบข้อเขียนของภาคนั้นอีก แม้ว่าจะสอบข้อเขียนอีกภาคหนึ่งตก เมื่อสอบได้ทั้งสองภาคจึงมีสิทธิสอบปากเปล่า
การสอบปากเปล่า กรรมการผู้สอบจะวินิจฉัยเพียงว่า "สอบได้" หรือ "สอบตก" เท่านั้น ถ้าผู้สอบปากเปล่าผู้ใดสอบตก ผู้นั้นมีสิทธิเข้าสอบปากเปล่ากับคณะกรรมการซึ่งตั้งขึ้นเพื่อการนั้นในวันเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง ถ้าผู้สอบปากเปล่าตกในการเรียนสมัยใด(หรือปีใด) ผู้นั้นมีสิทธิสอบแก้ตัวอีกสามครั้ง หากยังสอบไม่ผ่านอีกเป็นครั้งที่สาม ให้ถือว่าการสอบข้อเขียนทั้งสองภาคที่ได้ไว้แล้วนั้นเป็นอันยกเลิก
เมื่อจบปริญญาตรีทางกฎหมาย หากไม่ศึกษาต่อระดับปริญญาโท หรือ เนติบัณฑิตไทย ก็สามารถสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นทนายความได้ ดังนั้นมาเริ่มรู้จักกับทนายความได้เลย ทนายความ เป็นวิชาชีพทางกฎหมายแขนงหนึ่ง ในแต่ละประเทศอาจมีศัพท์เรียกทนายแตกต่างกัน เช่น barrister-at-law หรือ attorneyหรือ solicitor ซึ่ง barrister-at-law จะหมายถึงทนายความที่ว่าความในศาล ส่วน solicitor จะเป็นที่ปรึกษากฎหมายที่ไม่ได้ว่าความ ในอเมริกาจะเรียกทนายความว่า attorney หรือ lawyer ซึ่งว่าความได้ และเป็นทนายความเพียงประเภทเดียว บางครั้งมีผู้แปลคำว่า lawyer ว่านักกฎหมาย แต่ในประเทศไทย ทนายความสามารถรับปรึกษาปัญหากฎหมายและว่าความได้ โดยผู้จะเป็นทนายความ ต้องสอบใบอนุญาตว่าความจากสภาทนายความก่อน ขณะที่บางประเทศ ทนายความต้องจบเนติบัณฑิตย์ก่อน
คุณสมบัติของทนายความ
คุณสมบัติของทนายความในแต่ละประเภทแตกต่างกันไปตามกฎหมายของแต่ละประเทศ ทนายความในบางประเทศเช่น ประเทศอังกฤษ ต้องสำเร็จเนติบัณฑิต สำหรับคุณสมบัติของทนายความในประเทศไทยนั้น จะต้องผ่านการสอบใบประกอบวิชาชีพทนายความ ( ที่ชอบเรียกกันว่าตั๋วทนายความ )
ทนายความ
คุณสมบัติของผู้สมัคร
- มีสัญชาติไทย
- สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรืออนุปริญญาทางนิติศาสตร์จากสถาบันที่สภาทนายความอนุมัติ
- ไม่เป็นผู้ประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดีและไม่เป็นผู้ได้กระทำการใด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริต
- ไม่อยู่ในระหว่างต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก หรือเป็นบุคคลล้มละลาย
- ไม่เป็นโรคติดต่อซึ่งเป็นที่รังเกียจแก่สังคม
การฝึกอบรมวิชาว่าความแบ่งเป็น 2 ภาค คือภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ
ภาคทฤษฎี
การฝึกอบรมความรู้ภาคทฤษฎี สำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ จะจัดให้มีการบรรยายทางวิชาการในหัวข้อต่างๆ 16 วัน โดยผู้เข้ารับการอบรมวิชาว่าความจะเข้ารับการอบรมหรือไม่ก็ได้ (ไม่เช็คเวลาเรียน)
เมื่อเสร็จสิ้นการฝึกอบรมภาคทฤษฎีแล้ว จะทำการสอบความรู้ในภาคทฤษฎี ผู้ที่สอบไม่ผ่าน สำนักฝึกอบรมวิชาว่าความจะไม่ส่งเข้ารับการฝึกอบรมภาคปฏิบัติ และถือว่าไม่ผ่านการฝึกอบรมวิชาว่าความ แต่ไม่ตัดสิทธิที่จะเข้ารับการฝึกอบรมในรุ่นต่อไป โดยเสียค่าธรรมเนียมในการสมัครฝึกอบรมตามที่สำนักฝึกอบรมได้กำหนดไว้
ภาคปฏิบัติ
ผู้ทีเข้ารับการฝึกอบรมที่สอบผ่านภาคทฤษฎีจะต้องฝึกอบรมภาคปฏิบัติอีกไม่น้อยกว่า 6 เดือน ตามกำหนดเวลาที่นักฝึกอบรมวิชาว่าความ ประกาศกำหนด โนสำนักฝึกอบรมฯ จะจัดส่งไปฝึกอบรมภาคปฏิบัติ ณ สำนักงานทนายความ, ฝ่าย, องค์กรกฎหมายต่างๆทั่วประเทศ หรือในกรณีที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้แจ้งให้สำนักฝึกอบรมทราบว่า ได้มีสำนักงานที่จะฝึกภาคปฏิบัติแล้ว สำนักฝึกอบรมจะพิจารณาจัดส่งไปฝึกภาคปฏิบัติตามที่ได้แจ้งไว้ ทั้งนี้ ในการเข้าฝึกอบรมภาคปฏิบัติของผู้เข้ารับการอบรมนี้ ทนายความผู้ควบคุมการฝึกและเซ็นรับรอง และประเมินผลการฝึกอบรมภาคปฏิบัติจะต้องเป็นทนายความผู้ที่ใบอนุญาตจนถึงวันเริ่มฝึกภาคปฏิบัติ มาแล้วไม่น้อยกว่าเจ็ดปีขึ้นไป
การฝึกอบรมความรู้ ภาคปฏิบัติ สำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ จะจัดให้มีการบรรยายทางวิชาการในหัวข้อต่างๆ 8วัน โดยจะเริ่มบรรยายในเดือนที่ห้าของกสรฝึกภาคปฏิบัติ และเมื่อเสร็จสิ้นการฝึกอบรมภาคปฏิบัติแล้วจะทำการสอบความรู้ในภาคปฏิบัติเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติต่างๆ ตามกฎหมายในหน้าที่ของทนายความ ผู้ที่สอบไม่ผ่านภาคปฏิบัติสามารถขึ้นทะเบียนการสอบภาคปฏิบัติไว้ได้ เพื่อใช้สิทธิ์ในการสอบภาคปฏิบัติในรุ่นต่อไป โดยไม่ต้องเข้ารับการสอบภาคทฤษฎีและฝึกภาคปฏิบัติอีก ทั้งนี้ ผู้ขอขึ้นทะเบียนจะต้องรักษาสิทธิ์และเสียค่าธรรมเนียมการรักษาสถานภาพให้ต่อเนื่องกันตามกำหนดเวลาที่สำนักฝึกอบรมวิชาว่าความประกาศกำหนด
การสอบปากเปล่า
ผู้เข้ารับการอบรมที่ผ่านการสอบภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติแล้ว ให้เข้ารับการสอบปากเปล่า ตามกำหนดวันเวลาและหลักเกณฑ์ ที่สำนักฝึกอบรมวิชาว่าความประกาศกำหนด
การอบรมจริยธรรมและมรรยาททนายความ
ผู้ที่เข้ารับการอบรมที่ผ่านการสอบปากเปล่าแล้ว จะต้องเข้ารับการอบรมจริยธรรมและมรรยาททนายความ ตามกำหนดวันที่สำนักฝึกอบรมฯ ประกาศกำหนดเป็นเวลา 3 ชั่วโมง ผู้ที่ผ่านการอบรมจริยธรรมและมรรยาททนายความดังกล่าวจึงจะถือว่าเป็นผู้ผ่านการอบรมวิชาว่าความ และมีสิทธิ์ในการยื่นคำขอจดทะเบียน เพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทนายความต่อไป
3. การรับประกาศนียบัตร
- 3.1 ผู้ที่จะได้รับประกาศนียบัตรจากสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ แห่งสภาทนายความ จะต้องสอบได้ทั้งภาคทฤษฎี, ภาคปฏิบัติ, ผ่านการสอบปากเปล่า และจะต้องเข้ารับการอบรมจริยธรรมและมรรยาททนายความ เป็นเวลา 3 ชั่วโมง ตามกำหนดวันที่สำนักฝึกอบรมวิชาว่าความประกาศกำหนด
- 3.2 ผู้ที่สอบได้ภาคทฤษฎี, ภาคปฏิบัติ, ผ่านการสอบปากเปล่า และเข้ารับการอบรมจริยธรรม และมรรยาททนายความแล้ว และได้คะแนนแต่ละภาคตั้งแต่ร้อยละ 90 ขึ้นไป มีสิทธิได้รับการพิจารณาจากสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ เพื่อให้ได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่งและหากคะแนนแต่ละภาคได้ตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไป มีสิทธิได้รับการพิจารณาจากสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ เพื่อให้ได้รับเกียรตินิยมอันดับสอง
- 3.3 ในกรณีผู้มีสิทธิที่จะได้รับพิจารณาจากสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความ เพื่อให้ได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง หรือสองแล้วแต่กรณีจะต้องผ่านการพิจารณาตรวจสอบโดยละเอียดว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อกำหนดที่จะได้รับเกียรตินิยม
- ที่กล่าวมาตอนต้นท่านคงได้เห็นภาพว่าก่อนจะเป็นทนายความนั่นต้องถูกตรวจสอบและกลั่นกรองมาอย่างไรบ้างแล้วนะครับ
ทีนี้ผมจะพาไปดูหลักเกณฑ์การสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งเป็นพนักงานอัยการกันครับ
อัยการ
นิยามอาชีพพนักงานอัยการ
อำนวยความยุติธรรมในสังคม และรักษาผลประโยชน์ของรัฐ โดยในคดีอาญามีฐานะเป็นโจทก์แทนแผ่นดินมีอำนาจและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่นในด้านคดีแพ่ง มีอำนาจและหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่ส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ดำเนินคดีแทนรัฐบาลในศาลทั้งปวง พิจารณารับว่าแก้ต่างให้แก่นิติบุคคล ซึ่งได้มีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้นหรือให้แก่รัฐบาล ซึ่งเป็นโจทก์หรือจำเลยและมิใช่เป็นคดีพิพาทกับรัฐบาลเมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควร และในด้านคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน มีอำนาจหน้าที่ให้บริการ ช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน เช่น การประนอมข้อพิพาท การให้ความช่วยเหลือทางอรรถคดี และการฟ้องคดีแทนราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดที่ไม่อาจฟ้องเองได้เพราะกฎหมายห้าม เป็นต้น รวมถึงการให้ความช่วยเหลือในการรับแก้ต่างให้เจ้าพนักงานผู้ถูกฟ้องทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญาในเรื่องการที่ได้กระทำไปตามหน้าที่ หรือรับแก้ต่างให้แก่ราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดในเรื่องการที่ได้กระทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งได้สั่งการโดยชอบด้วยกฎหมาย
ลักษณะของงานที่ทำของอาชีพพนักงานอัยการ
ภารกิจ และหน้าที่หลักของผู้ประกอบอาชีพนี้ สามารถสรุปได้โดยย่อดังนี้
- 1. งานอำนวยความยุติธรรมทางอาญา เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลและคานอำนาจการใช้ดุลพินิจทั้งของพนักงาน
- สอบสวนและศาลเพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้องชอบธรรม ในคดีอาญา อัยการมีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ เช่น ฟ้องคดีต่อศาล ยื่นฟ้องคดีที่ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องไว้แล้วแต่ถอนฟ้องคดีนั้น เว้นเสียแต่คดีซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว ทำการตรวจสอบสำนวนคดีของพนักงานสอบสวนที่ได้สอบสวนผู้กระทำความผิดกฎหมายอาญาแล้ว กรณีที่พนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องและพนักงานอัยการเห็นชอบด้วย ให้ออกคำสั่งไม่ฟ้องและแจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบ แต่ถ้าไม่เห็นด้วยก็สั่งฟ้องและแจ้งพนักงานสอบสวนให้ส่งตัวผู้ต้องหามาเพื่อฟ้องหรือจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ได้ตัวผู้ต้องหามาฟ้องคดีต่อศาล เป็นต้น
- ในคดีแพ่งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีแทนรัฐบาลในศาลทั้งปวง หรือในกรณีเทศบาล หรือสุขาภิบาล หรือนิติบุคคล ซึ่งได้มีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้นเป็นโจทก์หรือเป็นจำเลย ซึ่งไม่ใช่เป็นคดีที่พิพาทกับรัฐบาล เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควรจะรับว่าต่างหรือแก้ต่างคดีก็ได้
- 2. งานด้านคดีอาญาระหว่างประเทศ ในกรณีคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน และการร่วมมือกับต่างประเทศในการสอบสวนและอื่นๆ
- 3. งานด้านรักษาผลประโยชน์ของรัฐ ให้คำแนะนำปรึกษาหารือปัญหาข้อกฎหมาย แก่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การบริหารราชการของหน่วยงานดังกล่าวลุล่วงไปด้วยดี และรับดำเนินการว่าต่างแก้ต่างให้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด รวมถึงการตรวจร่างสัญญาต่างๆ ก่อนลงนาม
- 4. งานด้านคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน รับหน้าที่ในคดีที่ราษฎรไม่อาจเป็นโจทก์
- ฟ้องร้องคดีได้โดยมีกฎหมายห้ามไว้ เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควรก็จะดำเนินคดีแทนให้ เช่น คดีอุทลุมที่บุตรไม่อาจฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากบุพการีได้ เป็นต้น หรือในคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษบุคคลใดโดยลำพัง ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ปล่อยผู้นั้น เมื่อพนักงานอัยการเห็นสมควรจะฎีกาก็ได้ หรือในกรณีที่มีการผิดสัญญาประกันจำเลยตามกฎหมาย อัยการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญานั้น และให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย ตลอดจนช่วยทำนิติกรรมสัญญาและประนอมข้อพิพาทให้แก่ประชาชนทั่วไปโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ
- 5. งานตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูง กรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือข้าราชการระดับสูงผู้ใดเมื่อถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวนแล้วเห็นว่ามีมูล จะส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นงานตามที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญ
- 6. งานพิเศษ เช่น งานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ โดยมีโครงการเผยแพร่ความรู้และช่วยเหลือทางกฎหมายให้แก่ประชาชน โครงการสนับสนุนการระงับข้อพิพาททางแพ่งในระดับท้องถิ่นโดยอนุญาตตุลาการ ฝึก
- อบรมความรู้กฎหมายเบื้องต้นทางกฎหมายแก่ผู้นำหมู่บ้าน กลุ่มเยาวชน กลุ่มเกษตรกร พัฒนากร ครูและเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่อยู่ในตำบล ช่วยเหลืออรรถคดีแก่ประชาชนที่ยากจนทั้งคดีว่าต่างและแก้ต่าง หรือหากประชาชนมีปัญหาด้านกฎหมาย ก็สามารถขอคำปรึกษาได้ที่สำนักงานอัยการจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ
สภาพการจ้างงาน
ผู้ประกอบอาชีพนี้ จะต้องผ่านการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าบรรจุเป็นข้าราชการอัยการเเละมีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อกำหนด เมื่อได้เข้ารับราชการแล้วจะได้รับเงินเดือนเเละเงินประจำตำเเหน่งตามชั้นเงินเดือนจากชั้นที่ 1 จนถึงชั้นที่ 8 โดยตำเเหน่งสูงสุดคืออัยการสูงสุดจะได้รับเงินเดือนๆ ละ 62,000 บาท และเงินประจำตำแหน่งชั้น 8 เดือนละ 42,500 บาท ลงมาถึงอัยการผู้ช่วยจะได้รับเงินเดือนชั้นที่ 1 โดยไม่มีเงินประจำตำแหน่งในอัตราเดือนละ 14,850 บาท จนกว่าจะเป็นอัยการประจำกองหรืออัยการจังหวัดผู้ช่วย ซึ่งจะได้รับเงินเดือนๆ ละ 21,370 บาท และเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 7,900 บาท
การพิจารณาเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งพิจารณาจากความสามารถ ความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่และอายุการทำงานของแต่ละบุคคลไป เวลาในการปฏิบัติงานต้องปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างเวลา 08.30 – 16.30 น. ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ หรือสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมง
สภาพการทำงาน
องค์กรอัยการมีฐานะเป็นหน่วยงานราชการอิสระเทียบเท่ากรมที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้ประกอบอาชีพนี้ เป็นข้าราชการอัยการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการอัยการ พ.ศ. 2503 ตามกฎหมายกำหนดให้มีพนักงานอัยการปฏิบัติราชการประจำองค์กร ดังนี้
ในกรุงเทพมหานคร
- 1. สถาบันกฎหมายอาญา
- 2. สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ
- 3. สำนักงานคณะกรรมการอัยการ
- 4. สำนักงานอำนวยการ (งานด้านธุรการ)
- 5. สำนักงานคดีแพ่ง
- 6. สำนักงานคดีแพ่งกรุงเทพใต้
- 7. สำนักคดีแพ่งธนบุรี
- 8. สำนักงานคดีภาษีอากร
- 9. สำนักงานคดียาเสพติด
- 10. สำนักคดีเยาวชนและครอบครัว
- 11. สำนักคดีแรงงาน
- 12. สำนักงานคดีศาลแขวง
- 13. สำนักคดีศาลสูง
- 14. สำนักคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร
- 15. สำนักคดีอาญา
- 16. สำนักคดีอาญากรุงเทพใต้
- 17. สำนักคดีอาญาธนบุรี
- 18. สำนักคดีอัยการสูงสุด
- 19. สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน
- 20. สำนักงานต่างประเทศ
- 21. สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย
- 22. สำนักงานวิชาการ
- 23. สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
- 24. สำนักงานคดีล้มละลาย
- 25. สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
- 26. สำนักงานคดีปกครอง
องค์กรในจังหวัดต่างๆ
- สำนักงานอัยการเขต 1 – 9
- สำนักอัยการจังหวัด มี 75 สำนักงาน
- สำนักงานอัยการประจำศาล อยู่ที่อำเภอ 23 สำนักงาน รับผิดชอบคดีศาลแขวง 21 สำนักงาน รับผิดชอบคดีเยาวชนและครอบครัว 33 สำนักงาน
- สำนักงานคดีปกครองเชียงใหม่
- สำนักงานคดีปกครองสงขลา
- สำนักงานคดีปกครองนครราชสีมา
- สำนักงานคดีปกครองขอนแก่น
- สำนักงานคดีปกครองพิษณุโลก
นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ร่วมกับแพทย์นิติเวช พนักงานฝ่ายปกครอง พนักงานสอบสวนออกไปชันสูตรพลิกศพผู้ที่ตายจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน (วิสามัญฆาตกรรม) หรืออยู่ในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน ตามที่กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดให้เป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการ นอกจากนั้น ยังเข้าร่วมคุ้มครองเด็กซึ่งอยู่ในฐานะผู้เสียหาย พยาน หรือผู้ต้องหา ในการสอบสวนในคดีอาญา ซึ่งมีเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ หรือนักจิตวิทยาเข้าร่วมสอบสวนด้วย โดยมีการผลัดเปลี่ยนเวรกันทั้งในเวลาราชการและนอกราชการ
คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพมีดังต่อไปนี้
- จบหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต หรือสอบไล่ได้รับปริญญา หรือประกาศนียบัตรทางกฎหมายจากต่างประเทศ ซึ่งคณะกรรมการอัยการเทียบว่าไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี
- จบตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
- ได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายเป็นข้าราชการตุลาการ จ่าศาล รองจ่าศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานบังคับคดี พนักงานคุมประพฤติ นายทหารพระธรรมนูญหรือทนายความ หรือได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายอย่างอื่นตามที่คณะกรรมการอัยการกำหนด ทั้งนี้ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี และให้ คณะกรรมการอัยการมีอำนาจออกระเบียบกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพนั้นๆ ด้วย
- มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
- มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปี
- เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญด้วยความบริสุทธิ์ใจ
- เป็นสามัญสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา
- ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี
- ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
- ไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งให้พักราชการ หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการหรือตามกฎหมายอื่น
- ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ
- ไม่เป็นผู้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้ทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
- ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือมีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการอัยการ หรือเป็นโรคที่ระบุไว้ในกฎกระทรวง
- เป็นผู้ที่คณะกรรมการแพทย์มีจำนวนไม่น้อยกว่าสามคน ซึ่งคณะกรรมการอัยการจะได้กำหนดได้ตรวจร่างกายและจิตใจแล้ว และคณะกรรมการอัยการได้พิจารณารายงานของแพทย์เห็นว่าสมควรรับสมัครได้
ผู้ที่สนใจในอาชีพนี้ ควรเตรียมความพร้อมดังนี้
ต้องผ่านการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ในมหาวิทยาลัยที่มีการเปิดสอนคณะนิติศาสตร์ และต้องสอบได้เนติบัณฑิต (นบ.) นอกจากนี้ยังต้องมีคุณสมบัติดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นทุกประการ
โอกาสในการมีงานทำ
ผู้ที่จะประกอบอาชีพนี้ได้ต้องผ่านการสอบคัดเลือกและต้องมีคุณสมบัติดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นอาชีพที่ต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้เท่านั้น เมื่อผ่านการคัดเลือกแล้วก็จะได้รับตำแหน่งเป็นอัยการผู้ช่วย คือ อัยการชั้น 1 ก่อนในขั้นต้นทุกคน และจะได้พิจารณาเลื่อนขั้นเป็นอัยการประจำกอง หรืออัยการจังหวัดผู้ช่วย (อัยการชั้น 2) ต่อไป
เนื่องจากปัจจุบันมีการจัดตั้งศาลยุติธรรมเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับกับคดีที่เกิด เพื่อไม่ให้คดีล้นศาลและเพื่อความรวดเร็วในการพิจารณาคดี ทำให้ยังคงมีความต้องการพนักงานอัยการเพื่อมาทำหน้าที่มากขึ้น เพื่ออำนวยความยุติธรรมและเป็นหลักประกันความเป็นธรรมให้แก่สังคมต่อไป
โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
ผู้ที่เป็นพนักงานอัยการ จะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดจากคณะกรรมการอัยการ และเมื่อรับราชการในตำแหน่งอัยการไม่น้อยกว่า 2 ปี สามารถสอบคัดเลือกเป็นผู้พิพากษาต่อไปได้ พนักงานอัยการเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ความก้าวหน้าในอาชีพย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถและความซื่อสัตย์ ซื่อตรง หากปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตแล้วย่อมมีความก้าวหน้าในอาชีพได้อย่างแน่นอน
แหล่งข้อมูล:สำนักงานอัยการ
ผู้พิพากษา
อาชีพที่เป็นความใฝ่ฝันของนักกฎหมายอันดับหนึ่งก็คือผู้พิพากษา ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเป็นอาชีพที่มีบทบาทในการตัดสินอรรคคดีความต่างๆ และกว่าที่บุคคลธรรมดาจะได้นั่งบัลลังก์ศาล ก็ต้องผ่านการสอบคัดเลือกกันอย่างชนิดสุดสุดกันทีเดียว มาดูกันครับว่าจะเป็นผู้พิพากษาได้นั้นต้องผ่านการคัดเลือกอย่างไร
การสอบเป็นผู้พิพากษา
การสอบเข้าเป็นผู้พิพากษาในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา มีวิธีการคัดเลือกอยู่ 3 แบบด้วยกัน โดยแต่ละแบบจะมีคุณสมบัติในการสอบแตกต่างกันออกไป คือ การสอบคัดเลือก (สนามใหญ่) จะมีการเปิดสอบเป็นคราว ๆ ไป โดยสำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมจะเป็นผู้ดำเนินการ ตั้งแต่แจกใบสมัคร ส่งไปตรวจร่างกายและจิตใจ ตรวจสอบคุณสมบัติ ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบ ดำเนินการสอบ ประกาศผลสอบ และบรรจุเข้ารับราชการ
คุณสมบัติของผู้สมัครสอบคัดเลือก
ต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามดังนี้
- มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
- ผู้สมัครสอบคัดเลือกหรือผู้สมัครทดสอบความรู้ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีบริบูรณ์ ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกพิเศษ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์
- เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญด้วยความบริสุทธิ์ใจ
- เป็นสามัญสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตสภา
- ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี
- ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
- ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกสั่งให้พักราชการหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น
- ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
- ไม่เป็นผู้เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
- ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ หรือมีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการหรือ เป็นโรคที่ระบุไว้ในระเบียบ ก.ต. และ
- เป็นผู้ที่ผ่านการตรวจร่างกายและจิตใจโดยคณะกรรมการแพทย์จำนวนไม่น้อยกว่าสามคน ซึ่ง ก.ต. กำหนด และ ก.ต. ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมการแพทย์แล้วเห็นสมควรรับสมัครได้
- การสอบคัดเลือก มีการสอบข้อเขียน 3 วัน
วันที่หนึ่ง สอบวิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายอาญา จำนวน 10 ข้อ เวลา 4 ชม. คะแนนเต็ม 100 คะแนน
วันที่สอง สอบวิชากฎหมายลักษณะพยาน จำนวน 3 ข้อ วิชากฎหมายพระธรรมนูญ ศาลยุติธรรมกับกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญา ในศาลแขวง จำนวน 1 ข้อ และให้เลือกสอบในลักษณะวิชา กฎหมายล้มละลาย กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลเยาวชนและ ครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว กฎหมายปกครอง กฎหมาย ทรัพย์สินทางปัญญา หรือกฎหมายการค้าระหว่างประเทศวิชาใดวิชาหนึ่ง จำนวน 2 ข้อ รวมจำนวนข้อสอบทั้งหมด 6 ข้อ เวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง คะแนนเต็ม 60 คะแนน และวิชาภาษาอังกฤษ เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง คะแนนเต็ม 10 คะแนน สำหรับลักษณะวิชาที่ให้เลือกสอบ ผู้สมัครต้องแสดงความจำนงว่าจะสอบลักษณะ วิชาใดในวันสมัครสอบ
วันที่สาม สอบวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จำนวน10 ข้อ เวลา 4 ชั่วโมง คะแนนเต็ม 100 คะแนน
การสอบปากเปล่า เนื้อหาครอบคลุมลักษณะวิชาที่สอบข้อเขียน ตามแต่คณะ อนุกรรมการสอบฯจะเห็นสมควรกำหนดเวลาประมาณคนละ 15 นาที คะแนนเต็ม 100 คะแนน
เกณฑ์ที่จะได้บรรจุเป็นข้าราชการตุลาการ
ผู้สมัครต้องได้คะแนนสอบข้อเขียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของคะแนนสอบข้อเขียนทั้งหมด จึงมีสิทธิเข้าสอบปากเปล่าและต้องได้คะแนนสอบข้อเขียนกับสอบปากเปล่ารวมกันไม่น้อยกว่า ร้อยละ 60 ของคะแนน ทั้งสองอย่างรวมกัน
วิชาชีพทางกฎหมายที่ ก.ต. รับรอง
- ทนายความ
- จ่าศาล,รองจ่าศาล
- ข้าราชการ พนักงานเทศบาลหรือลูกจ้างส่วนราชการปฏิบัติงานในหน้าที่นิติกร
- เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
- เจ้าพนักงานบังคับคดี
- พนักงานคุมประพฤติ
- อัยการ
- นายทหารเหล่าพระธรรมนูญ
- อาจารย์นิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ
- พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ
- เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน ป.ป.ป.
- ลูกจ้างกระทรวงยุติธรรมทำหน้าที่พนักงานคุมประพฤติ หรือพนักงานบังคับคดี
- นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน (ส.ต.ง.)
- ข้าราชการรัฐสภาสามัญปฏิบัติงานในหน้าที่นิติกร
- พนักงานรัฐวิสาหกิจหรือพนักงานในสถาบันการเงินที่ ก.ต.รับรอง ปฏิบัติงานในหน้าที่นิติกร
นิติกรในสถาบันการเงินที่ ก.ต. รับรองไปแล้ว
- ตำแหน่งเจ้าหน้าที่กฎหมาย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- ตำแหน่งนิติกร ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ จำกัด (มหาชน)
- ตำแหน่งเสมียน ธนาคารไทยทนุ จำกัด
- ตำแหน่งผู้ช่วยนักวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด
- ตำแหน่งงานนิติกรรม ธนาคารอาคารสงเคราะห์
- ตำแหน่งนิติกร ธนาคารทหารไทย จำกัด
- ตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่าย ฝ่ายกฎหมายธุรกิจหลักทรัพย์ บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน)
- ตำแหน่งนิติกร บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์คาเธ่ย์ ไฟน์แนนซ์ จำกัด (มหาชน)
- ตำแหน่งพนักงานชั้นกลาง แผนกธุรกรรมกฎหมาย
- บริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน)
- ตำแหน่งนิติกรธนาคารนครธน จำกัด (มหาชน)
- เจ้าหน้าที่นิติกรรมสัญญา บริษัท เงินทุนภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน)
- ผู้ช่วยผู้จัดการ ฝ่ายกฎหมาย บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์เอ็มซีซี จำกัด (มหาชน)
- เจ้าหน้าที่เร่งรัดหนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
- นิติกรอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์
ผู้พิพากษา Judges
นิยามอาชีพ
ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ ได้แก่ ผู้มีอำนาจอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีทั้งปวงใน พระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ลักษณะของงานที่ทำ
- ตรวจคำคู่ความซึ่งยื่นต่อศาลเพื่อสั่งรับ หรือไม่รับ หรือให้ทำใหม่ หรือให้แก้ไขเพิ่มเติม
- ควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาคดี ออกข้อกำหนด เพื่อรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาล และเพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปโดยเที่ยงธรรม และรวดเร็ว ออกหมายเรียก ออกหมายอาญา
- ออกหมายสั่งให้ส่งคนมาจาก หรือไปยังจังหวัดอื่นหรือออกคำสั่งใดๆ
- ไต่สวน และวินิจฉัยชี้ขาดคำร้อง หรือคำขอ
- ไต่สวนมูลฟ้องในคดีอาญา ไต่สวนการชันสูตรพลิกศพ ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน
- นั่งพิจารณาคดี และควบคุมการนำสืบพยานหลักฐานของคู่ความ ตรวจบุคคล วัตถุสถานที่ หรือตั้งผู้เชี่ยวชาญ ใช้ดุลยพินิจวินิจฉัย ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง
- พิพากษาชี้ขาดตัดสินคดีทั้งทางแพ่ง และทางอาญาโดยยุติธรรมตามกฎหมาย
- บังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษา
- ทำรายงานการคดี และกิจการของศาลส่งตามระเบียบ
- ระมัดระวังการใช้ระเบียบวิธีการต่างๆ ที่กำหนดขึ้นโดยกฎหมายหรือโดยประการอื่น ให้เป็นไปโดย ถูกต้อง เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเสร็จเด็ดขาดไปโดยเร็ว
- อาจมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีต่างประเภทกันตามประเภทของศาล
สภาพการจ้างงาน
ได้รับการบรรจุเป็น ข้าราชการตุลาการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้พิพากษาก่อนผู้ได้รับคะแนนต่ำลงมาตามลำดับแห่งบัญชีสอบคัดเลือก
ผู้ประกอบอาชีพผู้พิพากษา จะมีบัญชีอัตราเงินเดือน และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการตุลาการ แตกต่างตามประเภทศาล และตำแหน่ง
ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาจะมีอัตราเงินเดือน 14,850 - 16,020 บาท
ผู้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาประจำศาลถึงอธิบดีผู้พิพากษา(ศาลชั้นต้น) จะมีอัตราเงินเดือน 21,800 - 57,190 บาท และมีเงินประจำตำแหน่งแตกต่างกันไป
ผู้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาคถึงประธานศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ถึงรองประธานศาลฎีกาจะมีอัตราเงินเดือน 57,190 - 62,000 บาท และมีเงินประจำตำแหน่งแตกต่างกันไป
ผู้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา จะมีอัตราเงินเดือน 64,000 บาท และมีเงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท ทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อาจจะต้องเข้าเวรในวันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุด เพื่อทำหน้าที่ ลงนามคำสั่งในหมายศาล ในกรณีที่ต้องดำเนินทันทีไม่สามารถรอจนถึงวันทำการได้
สภาพการทำงาน
ผู้พิพากษามีห้องทำงานที่มีสภาพเหมือนห้องทำงานทั่วไป และเมื่อต้องทำหน้าที่ตัดสินคดีความ จะต้องนั่งบังลังก์ปฏิบัติหน้าที่พิพากษา เป็นประธานในห้องตัดสินคดีความ
อาชีพผู้พิพากษา อาจจะต้องปฏิบัติงานประจำศาลในต่างจังหวัด โดยเฉลี่ยจะปฏิบัติหน้าที่ประมาณ 3-4 ปีในแต่ละจังหวัด ซึ่งมีบ้านพักผู้พิพากษาประจำในทุกจังหวัด หรืออาจจะปฏิบัติหน้าที่ประจำศาลในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการประกาศของคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม
คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
ผู้พิพากษา ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
- มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
- ไม่เป็นผู้ถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
- อายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบรูณ์ เป็นนิติศาสตร์บัณฑิต หรือสอบไล่ได้ปริญญาหรือประกาศนียบัตรทางกฎหมายจากต่างประเทศ ซึ่ง ก.ต. เทียบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี
- เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับเนติบัณฑิตยสภาจากสำนักเนติบัณฑิตยสภา
ผู้ที่จะประกอบอาชีพนี้ ควรเตรียมความพร้อมดังต่อไปนี้คือ : การดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาตามพระราช-บัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 นั้น บุคคลผู้ประสงค์จะเข้า รับราชการเป็นผู้พิพากษามีได้ 3 ทางคือ
- สมัครสอบคัดเลือก ต้องอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์
- สมัครทดสอบความรู้ ต้องอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์
- สมัครเข้ารับการคัดเลือกพิเศษต้องอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีบริบูรณ์
ผู้ที่จะเข้าเป็นผู้พิพากษาโดย 3 ทางดังกล่าวข้างต้น ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มาตรา 26 กำหนดว่าต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย เช่นต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิดไม่เป็นผู้ถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นๆของรัฐ เป็นต้น และสำหรับผู้สอบคัดเลือกตามข้อ1 ต้องมีคุณวุฒิ และได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย ดังต่อไปนี้
- 1. เป็นนิติศาสตร์บัณฑิต หรือสอบไล่ได้ปริญญา หรือประกาศนียบัตรทางกฎหมายจาก ต่างประเทศ ซึ่ง ก.ต. เทียบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี
- 2. สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และ
- 3. ได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายเป็น จ่าศาล รองจ่าศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าพนักงานบังคับคดี หรือพนักงานคุมความประพฤติของศาลยุติธรรม พนักงานอัยการ นายทหารเหล่าพระธรรมนูญ ทนายความ หรือประกอบวิชาชีพอย่างอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกฎหมาย ตามที่ ก.ต.กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองปีทั้งนี้ให้ ก.ต. มีอำนาจออกระเบียบกำหนด เงื่อนไขเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพนั้นๆ ด้วย
หลักเกณฑ์ และวิธีการสมัครสอบคัดเลือก ให้เป็นไปตามระเบียบที่ ก.ต. กำหนดโดยประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา (พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มาตรา 27)
ผู้สมัครทดสอบความรู้ตามข้อ 2 ต้องมีคุณวุฒิและได้ประกอบวิชาชีพดังต่อไปนี้
- 1. สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
- 2. มีคุณวุฒิอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
- ก. สอบไล่ได้ปริญญาหรือประกาศนียบัตรทางกฎหมายจากต่างประเทศ โดยมีหลักสูตรเดียว ไม่น้อยกว่าสามปี ซึ่ง ก.ต. เทียบได้ไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี หรือสอบได้ปริญญาเอกทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ซึ่ง ก.ต. รับรอง
- ข. สอบไล่ได้ปริญญา หรือประกาศนียบัตรทางกฎหมายจากต่างประเทศ โดยมีหลักสูตรเดียวไม่น้อยกว่าสองปี หรือหลายหลักสูตรรวมกันไม่น้อยกว่าสองปี ซึ่ง ก.ต. เทียบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี และได้ประกอบวิชาชีพตามที่ระบุไว้ตามมาตรา 27 (3) (ประกอบวิชาชีพเป็นจ่าศาล พนักงานอัยการ ฯลฯ เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี)
- ค. สอบไล่ได้ปริญญาโททางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ซึ่ง ก.ต. รับรอง และได้ประกอบวิชาชีพตามที่ระบุไว้ในมาตรา 27(3) เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
- ง. เป็นนิติศาสตร์บัณฑิตชั้นเกียรตินิยม และได้ประกอบวิชาชีพเป็นอาจารย์ใน คณะนิติศาสตรในมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี
- จ. เป็นนิติศาสตร์บัณฑิต และเป็นข้าราชการศาลยุติธรรม ที่ได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายในตำแหน่งตามที่ ก.ต. กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกปี และเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมรับรองว่ามีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความรู้ความสามารถดี และมีความประพฤติดีเป็นที่ไว้วางใจว่าจะปฏิบัติหน้าที่ข้าราชการตุลาการได้
- ฉ. สอบไล่ได้ปริญญาโท หรือปริญญาเอกในสาขาวิชาที่ ก.ต. กำหนด และเป็นนิติศาสตร์บัณฑิต และได้ประกอบวิชาชีพตามที่ระบุไว้ในมาตรา 27 (3) หรือได้ประกอบวิชาชีพตามที่ ก.ต. กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามปี หรือ
- ช. สอบไล่ได้ปริญญาตรี หรือที่ ก.ต. เทียบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีในสาขาวิชาที่ ก.ต.กำหนดและได้ประกอบวิชาชีพตามที่ ก.ต. กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี จนมีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพนั้น และเป็นนิติศาสตร์บัณฑิต
ให้ ก.ต. มีอำนาจออกระเบียบกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพตาม (2) (จ) (ฉ) และ (ช) ด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการสมัครทดสอบความรู้ให้เป็นไปตามระเบียบที่ ก.ต. กำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มาตรา 28) ส่วนผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกพิเศษ ตามข้อ 3 ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
- 1. มีคุณวุฒิอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
- ก. เป็น หรือเคยเป็นศาสตราจารย์ หรือ รองศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ
- ข. เป็น หรือเคยเป็นอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ เป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี
- ค. เป็น หรือเคยเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ หรือข้าราชการประเภทอื่นในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้อำนวยการกอง หรือเทียบเท่าขึ้นไป
- ง. เป็น หรือเคยเป็นทนายความมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี
- 2. สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
- 3. เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ดีเด่นในสาขาวิชากฎหมายตามที่ ก.ต.กำหนด
- 4. เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต มีบุคลิกภาพ มีความประพฤติ และทัศนคติเหมาะสมแก่ การปฏิบัติหน้าที่ข้าราชการตุลาการ
หลักเกณฑ์ และวิธีการคัดเลือกพิเศษ ให้ ไปตามระเบียบที่ ก.ต.กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (พระราชบัญญัติระเบียบ ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มาตรา 29)
โอกาสในการมีงานทำ
ตำแหน่งผู้พิพากษาถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ เป็นงานที่เกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ ทรัพย์สิน และชีวิตของประชาชนพลเมือง และทำงานในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ มีบัลลังก์นั่งสูงกว่าข้าราชการธรรมดา แม้ปัจจุบันนี้ความคิดดังกล่าวจะลดน้อยลงเนื่องจากจำนวนผู้พิพากษามากขึ้น อีกทั้งฐานะในทางสังคม และเกียรติภูมิของข้าราชการฝ่ายอื่น ตลอดจนพ่อค้านักธุรกิจสูงขึ้น แต่ตำแหน่งผู้พิพากษาก็ยังคงมีความสำคัญอยู่ เพราะฉะนั้นผู้พิพากษาจึงต้องดำรงตนให้น่าเชื่อถือ ดังนั้นกิจการบางอย่างซึ่ง ขัดกับงานในตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือทำให้เป็นที่ระแวงสงสัยในความเป็นกลาง หรือความเป็นธรรม เช่น รับปรึกษาคดีให้บุคคลทั่วไป หรือรับทำงานนอกเวลาหารายได้พิเศษเลี้ยงครอบครัว แม้จะเป็นงานสุจริตกฎหมายก็ห้ามไว้มิให้กระทำ เพราะการกระทำเช่นนั้นอาจกระทบกระเทือนถึงการปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษา
โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
ผู้ประกอบอาชีพนี้ ทำงานตามที่ได้รับมอบหมายเมื่อมีความชำนาญ และประสบการณ์จะสามารถได้รับการเลื่อนขั้น ตำแหน่งตามสาย-งานไปได้จนถึงตำแหน่งบริหารของข้าราชการตุลาการ ประธานศาลฎีกา
การประกอบการอื่นเพื่อหารายได้พิเศษ แม้จะเป็นงานสุจริตกฎหมายก็ห้ามไว้มิให้กระทำ เนื่องจากผู้พิพากษาต้องดำรงตนให้น่าเชื่อถือ ไม่ควรทำให้เป็นที่ระแวงสงสัยในความเป็นกลางหรือความเป็นธรรม และสำหรับอาชีพนี้อัตราเงินเดือนจัดได้ว่าสูงกว่าข้าราชการสังกัดอื่นๆ ทั่วไป ซึ่งเป็นอัตราเงินเดือนที่ปรับใหม่ให้เหมาะสมกับภาวะสังคม
จริยธรรมผู้พิพากษา
เ ดิมมีเพียงธรรมเนียมปฏิบัติในการวางตัวของผู้พิพากษาที่ปฏิบัติติดต่อกันมาเท่านั้น สิ่งใดกระทำได้ สิ่งใดกระทำไม่ได้ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อๆ กันมา เพราะผู้พิพากษาในประเทศ มีเพียงจำนวนน้อย ต่อมาจำนวนผู้พิพากษาได้เพิ่มขึ้น ธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ที่เคยปฏิบัติกันมา บางอย่าง ก็มีการเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพราะการเปลี่ยนแปลง ของสังคมภายนอก ทำให้การปฏิบัติตัว ของผู้พิพากษา บางครั้ง มองดูแล้ว ไม่เหมาะสมบ้าง ที่ประชุมคณะกรรมการ ตุลาการครั้งที่ ๖/๒๕๒๗ เห็นว่า ผู้พิพากษาบางท่าน ประพฤติตนในบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งที่ประชุมยังโต้เถียงกันอยู่ว่า การกระทำดังกล่าวนั้น เหมาะสมหรือไม่ เพราะยังไม่มีกฏเกณฑ์วางไว้ เป็นที่แน่นอน ที่ประชุมจึงมีความเห็นว่า น่าจะมีระเบียบ หรือคำแนะนำ หรือมีการวางแนวปฏิบัติไว้ ให้ผู้พิพากษาประพฤติ เพราะแม้จะมีวินัย อยู่ในกฎหมายว่า ด้วยระเบียบ ข้าราชการฝ่ายตุลาการ ก็เป็นเพียงกา รวางหลักเกณฑ์ไว้กว้างๆ บางเรื่องยังคลุมไปไม่ถึง และบางเรื่อง เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ไม่ได้เขียนไว้ จึงตั้งคณะกรรมการ วางหลักเกณฑ์ เรียกว่า ประมวลจริยธรรม ข้าราชการตุลาการขึ้น ซึ่งในด้านจริยธรรม เกี่ยวกับกิจการอื่น และเกี่ยวการดำรงตน และครอบครัวนั้น ได้บัญญัติไว้ทั้งหมด ๑๖ ข้อ ซึ่งจะนำมาให้ดู ดังต่อไปนี้
- ๑. ผู้พิพากษาจักต้องไม่เป็นกรรมการ
- ผู้จัดการ ที่ปรึกษาหรือดำรงตำแหน่งอื่นใด ในห้างหุ้นส่วน บริษัท ห้างร้าน หรือธุรกิจของเอกชน เว้นแต่เป็นกิจกรรม ที่มิได้แสวงหากำไร ผู้พิพากษาจักต้องไม่ประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพ หรือกระทำกิจการใด อันจะกระทบกระเทือน ต่อการปฏิบัติหน้าที่ หรือเกียรติศักดิ์ ของผู้พิพากษา
- ๒. ในกรณีจำเป็นผู้พิพากษาอาจได้รับมอบหมายหรือแต่งตั้งจากหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่น ของรัฐ ให้ปฏิบัติ หน้าที่อันเกี่ยวกับหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานนั้นได้ ในเมื่อการปฏิบัติ หน้าที่ดังกล่าว ไม่กระทบกระเทือน ต่อการปฏิบัติหน้าที่ หรือเกียรติศักดิ์ ของผู้พิพากษา ทั้งจักต้อง ได้รับอนุญาต จากกระทรวงยุติธรรม แล้วการเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐ ในทำนองเดียวกัน จักต้องได้รับอนุมัติจาก ก.ต.ด้วย
- ผู้พิพากษา ไม่พึงแสดงปาฐกถา บรรยาย สอน หรือเข้าร่วมสัมมนา อภิปราย หรือแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อสาธารณชน ซึ่งอาจกระทบกระเทือน ต่อการปฏิบัติหน้าที่ หรือเกียรติศักดิ์ ของผู้พิพากษา
- ๓. ผู้พิพากษาไม่พึงเป็นกรรมการ สมาชิก หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม สโมสร ชมรม หรือ องค์การใดๆ หรือเข้าร่วม ในกิจการใด ๆ อันจะกระทบกระเทือน ต่อการปฏิบัติหน้าที่ หรือ เกียรติศักดิ์ ของผู้พิพากษา
- ๔. ผู้พิพากษาไม่พึงรับเป็นผู้จัดการมรดก ผู้จัดการทรัพย์สิน หรือผู้ปกครองทรัพย์ เว้นแต่เป็นกรณีที่ ตัวผู้พิพากษาเอง คู่สมรส ผู้บุพการี ผู้สืบสันดานของตน หรือญาติสืบสายโลหิต หรือเกี่ยวพัน ทางแต่งงาน ซึ่งผู้พิพากษา ถือเป็นญาติสนิท มีส่วนได้เสียในมรดก หรือทรัพย์นั้นโดยตรง
- ๕. ผู้พิพากษาไม่พึงรับเป็นอนุญาโตตุลาการ หรือผู้ประนอมข้อพิพาท
- ๗. ผู้พิพากษาจักต้องสนับสนุน การปกครองระบอบประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นพระประมุขแห่งรัฐ
- ๘. ผู้พิพากษาจักต้องไม่เป็นกรรมการ สมาชิก หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมือง และจักต้อง ไม่เข้าเป็น ตัวกระทำการ ร่วมกระทำการ สนับสนุน ในการโฆษณา หรือชักชวนใดๆ ในการ เลือกตั้ง สมาชิกรัฐสภา หรือผู้แทน ทางการเมืองอื่นใด ทั้งไม่พึงกระทำใดๆ อันเป็นการฝักฝ่ายการเมือง หรือกลุ่มการเมืองใด นอกจาก การใช้สิทธิ เลือกตั้ง
- ๙. ผู้พิพากษาจักต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด อยู่ในกรอบของศีลธรรม และพึงมีความสันโดษ ครองตน อย่างเรียบง่าย สุภาพ สำรวมกิริยามารยาท มีอัธยาศัย ยึดถือจริยธรรม และประเพณีอันดีงาม ของตุลาการ ทั้งพึงวางตน ให้เป็นที่เชื่อถือ ศรัทธาของบุคคลทั่วไป
- ๑๐. ผู้พิพากษาพึงปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้นเป็นลำดับ และพึงขวนขวายศึกษาเพิ่มเติม ทั้งในวิชาชีพ ตุลาการ และ ความรู้รอบตัว ผู้พิพากษาจักต้อง ไม่ก้าวก่าย หรือแสวงหาประโยชน์ โดยมิชอบ จาการ ปฏิบัติหน้าที่ ของผู้พิพากษาอื่น
- ๑๑. ผู้พิพากษาจักต้องไม่ยินยอมให้บุคคลในครอบครัว ก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของตน หรือ ของผู้อื่น และจักต้อง ไม่ยินยอมให้ผู้อื่น ใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตน แสวงหาประโยชน์ อันมิชอบ
- ๑๒. ผู้พิพากษาพึงยึดมั่นในระบบคุณธรรม และจักต้องไม่แสวงหาตำแหน่ง ความดีชอบ หรือประโยชน์อื่นใด โดยมิชอบ จากผู้บังคับบัญชา หรือ จากบุคคลอื่นใด
- ๑๓. ผู้พิพากษาจักต้องระมัดระวังมิให้การประกอบวิชาชีพ หรืออาชีพ หรือการงานอื่นใดของ คู่สมรส ญาติสนิท หรือบุคคล ซึ่งอยู่ในครัวเรือนของตน มีลักษณะเป็นการ กระทบกระเทือน ต่อการปฏิบัติหน้าที่ หรือเกียรติศักดิ์ ของผู้พิพากษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านความเชื่อถือศรัทธา ของบุคคลทั่วไป ในการประสาทความยุติธรรม ของผู้พิพากษา
- ๑๔. ผู้พิพากษาและคู่สมรสจักต้องไม่รับทรัพย์สินหรือประโยชน์ใดๆ จากคู่ความ หรือจากบุคคลอื่นใด อันเกี่ยวเนื่อง กับการปฏิบัติหน้าที่ ของผู้พิพากษา และจักต้องดูแลให้บุคคลในครอบครัว ปฏิบัติเช่นเดียวกันด้วย
- ๑๕. ผู้พิพากษาและคู่สมรสจักต้องไม่รับของขวัญของกำนัล หรือประโยชน์ อื่นใดอันมีมูลค่า เกินกว่า ที่พึงให้กัน ตามอัธยาศัย และประเพณีในสังคม และจักต้องดูแล ให้บุคคลในครอบครัว ปฏิบัติเช่นเดียว กันด้วย
- ๑๖. ผู้พิพากษาจักต้องละเว้นการคบหาสมาคมกับคู่ความ หรือบุคคลอื่น ซึ่งมีส่วนได้เสีย หรือ ผลประโยชน์ เกี่ยวข้อง กับคดีความ หรือบุคคล ซึ่งมีความประพฤติ หรือมีชื่อเสียง ในทางเสื่อมเสีย อันอาจจะกระทบกระเทือน ต่อความเชื่อถือ ศรัทธาของบุคคลทั่วไป ในการประสาท ความยุติธรรม ของผู้พิพากษา ต่อมาได้มีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน จึงได้มีการแก้ไข ประมวลจริยธรรม ใหม่ขึ้น ตามประมวลจริยธรรมฉบับใหม่นี้ ท่านประธานศาลฎีกา มีอำนาจ ออกคำแนะนำ ในการดำรงตน ของผู้พิพากษา ซึ่งท่านประธานศาลฎีกา ได้ให้ความกรุณา ออกคำแนะนำ ให้การดำรงตน ของผู้พิพากษาไว้ ซึ่งคำแนะนำดังกล่าวนี้ ผู้เขียนมีความรู้สึก ชื่นชมต่อ ท่านประธานศาลฎีกา เป็นอย่างยิ่ง เพราะมีหลายข้อ ที่ผู้เขียน เคยตะขิดตะขวงใจ หรือลำบากใจ ในการวางตัว และไม่แน่ใจว่า สิ่งดังกล่าวนั้น เหมาะสม และ สมควร ในการดำรงตน ของผู้พิพากษาหรือไม่ เพื่อท่านได้ออกกำหนดมาชัดเจนเช่นนี้ ย่อมเป็นผลดีต่อ ผู้พิพากษา และผลดี ต่อประชาชน และประเทศชาติ เป็นอย่างยิ่ง ดังคำแนะนำขอท่าน ที่นำมาให้ลงไว้นี้
คำแนะนำของประธานศาลฎีกา
เกี่ยวกับการดำรงตนในโอกาสต่างๆ ของข้าราชการตุลาการ ตามประมวลจริยธรรม ข้าราชการตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๔
เพื่อให้การดำรงตน ในโอกาสต่างๆ ของข้าราชการตุลาการ เป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงเห็นสมควร ให้คำแนะนำ ในโอกาสต่างๆ เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ตามประมวลจริย-ธรรมจาก ราชการตุลาการ ไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑. การตรวจราชการ
- (๑) ผู้ตรวจราชการควรคำนึงถึงความจำเป็น ในการไปตรวจราชการ และระมัดระวังเกี่ยวกับความประหยัด ในการต้อนรับ และระยะเวลา ที่ผู้รับการตรวจ ต้องใช้ในการปฏิบัติ หน้าที่ราชการ
- (๒) ผู้ตรวจราชการ ควรจำกัดเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงเท่านั้น และ ให้มีจำนวนน้อยที่สุด
- (๓) ผู้ตรวจราชการเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ในการไปตรวจราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยค่าใช้จ่าย ในการเดินทางไปราชการ เช่น ค่ายานพาหนะ ค่าที่พักและเบี้ยเลี้ยง เป็นต้น
- (๔) ผู้ตรวจราชการควรงดเว้นการรับการอำนวยความสะดวกในทุกด้าน ที่เกินความรับผิดชอบตามปกติ ของผู้รับการตรวจ
- (๕) ผู้รับการตรวจพึงอำนวยความสะดวก ตามสมควรแก่ผู้ตรวจราชการ และงดเว้นการยืมยานพาหนะ จากบุคคลภายนอก การเกณฑ์ผู้คน มาให้การต้อนรับ และงดเว้นการจัดหา ของที่ระลึก ของขวัญ หรือ สิ่งของอื่นใด มอบให้แก่ผู้ตรวจราชการ และคณะ
- (๖) ผู้รับการตรวจพึงรอต้อนรับผู้ตรวจราชการอยู่ภายในที่ตั้งของตน งดเว้นการไปรอรับจากจังหวัดอื่น หรือตามไปส่งยังจังหวัดอื่น
- (๗) การไปสัมมนาของหน่วยงานราชการ ให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ พึงปฏิบัติ เช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว ข้างต้น
ข้อ ๒. การเดินทางไปรับตำแหน่งและการเดินทางไปเพื่อภารกิจส่วนตัว
- (๑) ผู้เดินทางไปรับตำแหน่งควรคำนึงถึงจำนวนคนที่จะร่วมเดินทางไป พึงงดเว้นการชักชวน หรือยอม ให้บุคคลอื่น ติดตามไปส่ง เป็นจำนวนมาก และไม่ควรให้เป็นภาระ แก่ผู้ให้การต้อนรับ และพึงรับผิดชอบ ค่าใช้จ่าย ในการเดินทาง รวมรวมตลอดทั้งค่าอาหาร และค่าที่พัก ของผู้ร่วมเดินทาง ไปส่งเอง
- (๒) ศาลที่ผู้เดินทางไปรับตำแหน่งพึงให้การต้อนรับและอำนวยความสะดวกตามสมควรแก่ผู้เดินทาง มารับตำแหน่ง เช่นจัดให้เข้าที่พัก ของทางราชการ และอำนวยความสะดวก ในสิ่งอื่นที่จำเป็น เพื่อให้ ผู้เดินทาง มารับตำแหน่ง รู้สึกอบอุ่นใจ และเกิดความรู้สึกที่ดี ต่อกันตามสมควร
- (๓) การเดินทางไปเพื่อภารกิจส่วนตัว ผู้เดินทางไม่ควรรบกวน ข้าราชการในพื้นที่
ข้อ ๓. การจัดเลี้ยงในโอกาสต่างๆ
- ๑ ข้าราชการตุลาการพึงงดเว้นการชักชวนหรือสนับสนุนให้มีการเดินทางไปอวยพร หรือจัดเลี้ยง ในโอกาส ต่างๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันเกิด หรืองานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น เว้นแต่เป็นการกระทำกัน ภายในหมู่ญาติมิตร หรือเฉพาะ ในหน่วยงานของตนเอง โดยมิได้รบกวน บุคคลภายนอก หรือ ให้บุคคล ภายนอกมาร่วมจัดงาน
- (๒) ข้าราชการตุลาการพึงงดรับของขวัญ ของมีค่า ของกำนัลจากผู้ใต้บังคับบัญชา และบุคคลอื่น
- (๓) ผู้ใต้บังคับบัญชาพึงงดเว้นการเดินทางไปอวยพร ผู้บังคับบัญชา เว้นแต่เป็นการกระทำกัน ภายใน หน่วยงานนั้นเอง ข้าราชการ ซึ่งอยู่ต่างท้องที่ หรืออยู่ห่างไกล หากประสงค์ จะอวยพร ควรใช้บัตรอวยพร ทางไปรษณีย์แทน
- การจะพิจารณาว่า ผู้พิพากษาท่านใด ดำรงตนได้เหมาะเพียงใดหรือไม่ ก็คงจะใช้ประมวลจริยธรรม และ คำแนะนำ ของท่าน ประธานศาลฎีกา ดังกล่าวนี้ เป็นบรรทัดฐาน ได้ในระดับหนึ่ง นอกจากกฎหมาย จารีต ประเพณี และธรรมเนียมปฏิบัติอื่นๆ ที่ได้ปฏิบัติกันมาแล้ว สำหรับหน่วยงาน หรือองค์กรอื่น จะมีประมวล จริยธรรม ของตนเอง หรือมีคำแนะนำ ข้อปฏิบัติ ของหัวหน้า ส่วนราชการอย่างไรนั้น ก็เป็นของ แต่ละหน่วยงาน เห็นเหมาะสม และสมควร ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ ของประชาชน และความน่าเชื่อถือ ของบุคลากร ของหน่วยงานนั้นๆ
บทความนี้เป็นการรวบรวมบทความจากหลายๆแห่ง อาทิเช่นจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สภาทนายความ จากเนติบัณฑิตยสภา จากสำนักงานอัยการสูงสุด และบางเว็บไซต์ เพื่อรวบรวมให้เป็นข้อมูลในการแนะนำให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษา และเป็นวิทยาทานอันสูงสุด ในนามของผู้รวบรวมเนื้อหาบทความขอขอบคุณสำหรับข้อมูลเนื้อหาที่ได้นำมาลงในเว็บไซต์แห่งนี้
ด้วยจิตรคารวะ