1.สิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหา
ผู้ต้องหา คือ บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดอาญา แต่มิได้ถูกฟ้องต่อศาล
ในระหว่างนี้ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดังนี้
- สิทธิที่จะไม่ถูกจับกุมโดยไม่มีเหตุอันสมควร
- สิทธิที่จะได้รับแจ้งให้ทราบว่าถ้อยคำที่ผู้ต้องหากล่าวนั้นอาจเป็นพยานหลักฐานยันเขาในการพิจารณาได้
- สิทธิที่จะไม่ตอบคำถามของเจ้าพนักงานสอบสวนเว้นแต่คำถามที่ถามชื่อ หรือที่อยู่ของบุคคลนั้นเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายหรือตอบคำถามที่เป็นผลเสียแก่ตนเอง หรือให้การในชั้นสอบสวน
- สิทธิที่จะได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็วต่อเนื่องและเป็นธรรม
- สิทธิพบและปรึกษาผู้ที่จะเป็นทนายความสองต่อสอง
- สิทธิที่จะให้ทนายความหรือซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำของตนได้
- สิทธิที่จะได้รับการเยี่ยมตามสมควร
- สิทธิที่จะไม่ถูกบังคับ ขู่เข็ญ ทรมาน หรือใช้วิธีหลอกลวงให้รับสารภาพ
- สิทธิที่จะได้รับการพยาบาลโดยเร็วเมื่อเจ็บป่วย
- สิทธิในการขอประกันต้องได้รับการพิจารณาอย่างรวดเร็วกรณีไม่ได้ประกันต้องได้รับแจ้งเหตุผลให้ทราบโดยเร็ว
- สิทธิที่จะอุทธรณ์คัดค้านการไม่ให้ประกันตัว
- สิทธิที่จะร้องต่อศาลท้องทีที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาว่าการคุมขังเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย
- สิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐด้วยการจัดหาทนายความให้
- สิทธิที่จะขอทราบสรุปพยานหลักฐานพร้อมความเห็นของพนักงานสอบสวนและอัยการในการสั่งคดีในคดีอาญาที่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี
2.สิทธิขั้นพื้นฐานของจำเลย
จำเลย คือ บุคคลที่ถูกฟ้องคดียังศาลโดยข้อหาว่าได้กระทำความผิดอาญา มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังนี้
- สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็วต่อเนื่องและเป็นธรรม
- สิทธิในการขอประกันต้องได้รับการพิจารณาอย่างรวดเร็วกรณีไม่ให้ประกันต้องแจ้งเหตุผลให้จำเลยทราบโดยเร็ว
- สิทธิที่จะอุทธรณ์คัดค้านการไม่ให้ประกัน
- สิทธิที่จะพบทนายความเป็นการเฉพาะตัว
- สิทธิที่จะได้รับการเยี่ยมตามสมควร
- สิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐด้วยการจัดหาทนายความให้
- สิทธิที่จะแต่งตั้งทนายความเพื่อสู้คดี
- สิทธิที่จะตรวจหรือคัดสำเนาคำให้การของตนในชั้นสอบสวนหรือเอกสารประกอบคำให้การของตนเมื่อพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว
- สิทธิที่จะตรวจดูสำนวนของศาลและขอคัดรับรองสำเนาโดยเสียค่าธรรมเนียม
- สิทธิที่จะตรวจดูสิ่งของที่ยื่นเป็นพยานหลักฐานและคัดสำเนาหรือถ่ายรูปสิ่งนั้นๆได้
- สิทธิที่จะได้รับสำเนาคำฟ้อง
- สิทธิที่จะได้รับการอ่านและอธิบายฟ้องให้ฟังและการสอบถามคำให้การจากศาล
- สิทธิที่จะให้การต่อสู้คดี
- สิทธิที่จะได้การสอบถามเรื่องทนายความก่อนเริ่มการพิจารณาคดี
- สิทธิที่จะคัดค้านคดีที่โจทก์ขอถอนฟ้องในคดีที่จำเลยได้ให้การแก้คดีแล้ว
- ฯลฯ